วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



 
 
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
                           พระราชประวัติ

                  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔  และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี  พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖  มี พระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงได้รับการศึกษาขั้นต้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ทรงเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ เสวยราชย์เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑
                ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง ๑๕ พรรษา  โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาค)  เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  จนถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ ทรงบรรลุนิติภาวะ  พระชนมพรรษาครบ ๒๐ พรรษา จึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ทรงครองราชสมบัติยาวนานถึง ๔๒ ปี  สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
 
 พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
 
        เพื่อให้ไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศและรอดพ้นจากภัยจักรวรรดินิยมที่กำลังคุกคามภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ขณะนั้น  รัชกาลที่ 5 ทรงพัฒนาและปรับปรุงประเทศทุกด้าน เช่น 
การปกครอง
                ทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ตามอย่างตะวันตก  แยกการปกครองออกเป็น 3 ส่วน คือการปกครองส่วนกลาง  แบ่งเป็นกระทรวงต่างๆ การปกครองส่วนภูมิภาคโดยระบบเทศาภิบาลและการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปสุขาภิบาล กฎหมายและการศาล
                ให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบศาลยุติธรรม  เป็นการแยกอำนาจตุลาการออกจากฝ่ายบริหารเป็นครั้งแรก  ยกเลิกจารีตนครบาล
                ที่ใช้วิธีโหดร้ายทารุณในการไต่สวนคดีความ  ตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น และประกาศใช้ประมวลกฎหมายลักษณะอาญาอันเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย  การปรับปรุงกฎหมายและการศาลนี้เป็นลู่ทางที่ทำให้ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้ในภายหลัง 
สังคมและวัฒนธรรม 
               ทรงยกเลิกระบบทาสและระบบไพร่ ให้ประชาชนมีอิสระในการดำรงชีวิต  ยกเลิกประเพณีที่ล้าสมัย  และรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา 
การเงิน การธนาคารและการคลัง
                ผลจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ ๔  ทำให้เศรษฐกิจการค้าขยายตัว  มีชาวต่างประเทศเข้ามาทำกิจการในประเทศไทยมากขึ้น  รัชกาลที่ ๕  จึงให้ออกใช้ธนบัตรและมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอนเป็นครั้งแรก  ทรงอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ของต่างประเทศเข้ามาตั้งสาขาและสนับสนุนให้คนไทยตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้น  ในด้านการคลัง มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นครั้งแรก  และปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพขึ้น 
สาธารณูปโภค
                ทรงให้สร้างถนนเพิ่มเติม ขุดคลองใหม่และลอกคลองเดิม  เพื่อใช้ในการคมนาคมและขยายพื้นที่เพาะปลูก  ทรงริเริ่มให้จัดกิจการสาธารณูปโภคหลายอย่างขึ้นเป็นครั้งแรก เช่น รถไฟ  รถราง  โทรเลข  ไปรษณีย์  โทรศัพท์  ไฟฟ้า  ประปา  การ
แพทย์และการสาธารณสุข
                ทรงปรับปรุงกิจการด้านนี้ให้เป็นแบบสมัยใหม่ เช่น ตั้งโรงพยาบาลวังหลัง (ศิริราช)  สภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย)  กรมสุขาภิบาล  โรงเรียนสอนแพทย์  โรงเรียนผดุงครรภ์และพยาบาล  เป็นต้น 
ารศึกษา
                มีการสร้างโรงเรียนหลวง  เพื่อ ให้การศึกษาแก่ราษฎรและทรงส่งพระราชโอรสและพระบรมวงศานุวงศ์ไปศึกษาต่าง ประเทศ จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาก็เพื่อฝึกคนให้มีความรู้สำหรับเข้ารับราชการ               
การศาสนา 
               โปรดเกล้าฯ  ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์  จัดตั้งสถานศึกษาสงฆ์ คือ มหามกุฏราชวิทยาลัย  และให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก 
การทหาร
                ทรงปรับปรุงหน่วยทหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ให้ทันสมัย  ตั้งกรมยุทธนาธิการซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นกระทรวงกลาโหม  ตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบก  โรงเรียนนายเรือ  และตราพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารขึ้นใช้เป็นครั้งแรก
                ในการปรับปรุงพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ  เนื่อง จากในขณะนั้นคนไทยมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิทยาการสมัยใหม่ยังมีน้อย รัชกาลที่ ๕ จึงต้องทรงจ้างชาวต่างประเทศเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและรับราชการเป็นจำนวนมาก ส่งวนใหญ่เป็นชาวตะวันตก เช่น อังกฤษ  อเมริกัน  เยอรมัน  ฝรั่งเศส  เบลเยียม  เดนมาร์ก  ที่เป็นชาวตะวันออกก็มีอยู่บ้าง เช่น ญี่ปุ่น  ลังกา  ปรากฏว่าชาวต่างประเทศที่จ้างมาทำงานได้ผลดีสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก  บางคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นถึงพระยา เจ้าพระยานอกจากนี้รัชกาลที่ 5  ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ  โดยได้เสด็จประพาสสิงคโปร์ของอังกฤษและเกาะชวาอาณานิคมของฮอลันดา  ต่อมาเสด็จประพาสอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  ทรงนำความเจริญของดินแดนเหล่านี้มาประกอบในการพัฒนาประเทศไทย
                ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ รัชกาลที่ ๑  เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑  ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ  กว่า ๑๐ ประเทศ  เป็นผลดีต่อฐานะของประเทศไทยในสังคมระหว่างประเทศ  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๙ ๒ - ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งที่ ๒  เพื่อเยี่ยมพระราชโอรสที่ศึกษาอยู่ในประเทศต่างๆ  และรักษาพระองค์ตามที่แพทย์ถวายคำแนะนำ  ในโอกาสเดียวกันทรงได้เจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองกับประเทศต่าง ๆ ด้วย  แม้ว่ารัชกาลที่ ๕  จะทรงพัฒนาประเทศทุก ๆ  ด้าน และพยายามผูกมิตรกับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ  แต่ประเทศไทยก็ยังไม่อาจรอดพ้นภัยจากลัทธิล่าอาณานิคมโดยสิ้นเชิง  ดังเช่นเกิดพิพาทกับฝรั่งเศสจนถึงขั้นปะทะกันที่ปากน้ำ สมุทรปราการ  ซึ่งเรียกว่าเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)  เป็นต้น  รัชกาลที่ ๕ ต้องทรงยอมเสียดินแดนบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษ  เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ไว้   ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
                พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยและประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง  จึงทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า  พระปิยมหาราช  อันหมายถึงว่า  ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย  และในโอกาสครบรอบ ๑๕๐ พรรษาแห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพ  วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖  องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  หรือยูเนสโก (UNESCO)  ได้ประกาศ ยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญและมีผลงานดีเด่นของโลกทางสาขาการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา การพัฒนาสังคมและสื่อสาร 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น